วงกลมจากสมองสองมือและหัวใจ

โดย ครูแอน เมื่อ

ชั้น ป. 6 เป็นปีที่เด็กมีพัฒนาการทางความคิดที่เปลี่ยนแปลงไป การคิดเชิงเหตุและผล (Cause and effect) ก่อกำเนิดขึ้น และเด็กมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเข้าใจความเชื่อมโยงเชิงเหตุผลในทุกสิ่งรอบตัว หนึ่งในวิชาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามการเติบโตของเด็ก ก็คือวิชา Form Drawing

จากการวาดเส้น (Freehand Drawing) ไปสู่การเรียนเรขาคณิต (Geometry)
จากการเคลื่อนที่ในร่างกาย ไปสู่การเคลื่อนที่ในความคิด
จากมือเปล่า ไปสู่การใช้เครื่องมือที่แม่นยำมากขึ้น

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักเรียนชั้น ป.6 จึงได้รับโจทย์ในการวาดวงกลมให้กลมที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยมือเปล่า และจากนั้นให้พยายามทำให้กลมมากยิ่งขึ้น โดยครูให้เครื่องมือช่วยคือเชือกเพียงหนึ่งเส้น

เด็กวัยนี้จะสนุกสนานไปกับการถูกท้าทายให้เคลื่อนไหวในความคิด การคิดที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ยังไม่ใช่การคิดเชิงวิเคราะห์ แต่เป็นการคิดเชิงเหตุและผล (Cause and effect thinking)

“หากฉันทำแบบนี้ จะได้ผลออกมาอย่างไร?”
“แล้วถ้าเปลี่ยนวิธีเป็นอีกแบบ จะได้ผลอย่างไร?”

เด็ก ๆ ใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่นานจนรู้ว่าเชือกหนึ่งเส้นจะทำให้เขาวาดวงกลมที่กลมมากได้อย่างไร และบรรจงวาดวงกลมที่งดงามขึ้นจากเชือกอย่างภาคภูมิใจในพลังความคิดและมืออันคล่องแคล่วของตนเอง

เมื่อ ‘วงกลม’ แห่งความภาคภูมิใจเกิดขึ้นด้วยตัวเขาเองแล้ว…

ก็ถึงเวลาที่ครูจะมอบ เครื่องมือเรขาคณิตชิ้นแรกที่ชื่อว่า ‘วงเวียน’ ให้วิชาเรขาคณิตจึงได้เริ่มต้นขึ้น!!! พร้อมกับความตื่นเต้นในความสามารถใหม่ของตนเองและความกระหายอยากเรียนรู้แบบไม่รู้จบ

เด็กๆ ช่วยกันวาดวงกลม