คำสบถที่มีโอกาสได้ลองใช้ในวิชาภาษาไทย

โดย ครูมะออม เมื่อ

ในวัย 10 ขวบ เด็ก ๆ กำลังค้นพบตัวตนแบบใหม่ สิ่งที่ง่ายที่สุดที่เขาจะสะท้อนออกมาสู่ภายนอก คือ คำพูด เราจึงมักได้ยินการพูดจาเชิงตั้งคำถาม คำพูดยอกย้อน เริ่มวิพากษ์ในสิ่งที่เห็น อยากลองพูดคำต้องห้ามไม่ว่าจะเป็นคำสบถ หรือคำหยาบต่าง ๆ

ในห้องเรียนของเราจึงพาเด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องนี้ผ่านตำนานเทพเจ้ายุโรปเหนือ ถึงความอดทน มุ่งมั่นของมหาเทพโอดินที่ยอมห้อยหัวกับพฤกษาโลก ‘ต้นอิกดราซิล’ ไม่ดื่มไม่กิน นาน 9 วัน 9 คืน จนได้ค้นพบอักษรรูนอันศักดิ์สิทธิ์ และการเกิดขึ้นของภาษาก่อนจะค่อย ๆ เดินทางมาสู่การกำเนิดอักษรของไทย เกิดเป็นเสียงของพยางค์และคำ มารวมกันเป็นรูปประโยคที่งดงาม แล้วส่งสารเป็นเรื่องราวต่าง ๆ ไปยังคนรอบข้างผ่านคำพูด และท่าทาง

เด็ก ๆ ได้มีโอกาสลองใช้สรรพนามในแบบต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่ามีการขอพูด “กู มึง เอ็ง มัน” นอกจากนั้นยังได้ช่วยกันนำถ้อยคำมาเรียงร้อยเป็นเรื่องราวให้น่าสนใจแล้วออกมานำเสนอหน้าห้อง รวมทั้งได้สวมบทบาทสมมติและสนทนากันด้วยภาษาที่พวกเขาช่วยกันแต่งขึ้น

การได้มีโอกาสได้ลองใช้ถ้อยคำทั้งในมิติเชิงลบ และเชิงบวก ภายใต้บริบทที่ครูนำทางจะช่วยสร้างมุมมองต่อการใช้ภาษาของเด็กให้เหมาะสมกับเทศะและกาละจากภายในของเขา มิใช่เพียงถูกกำหนดจากกฎเกณฑ์ภายนอกแล้วใช้อย่างไม่เข้าใจ พวกเขาจะค่อย ๆ เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่จะเป็นนายของคำพูดอย่างแท้จริง